การเล่น ถือเป็นกิจกรรมสำคัญลูกน้อยเลยก็ว่าได้ นอกจากเด็ก ๆ จะได้รับความสนุกสนานจากการเล่นแล้ว ยังมีส่วนช่วยเสริมพัฒนาการลูกแทบทุกด้านให้กับเด็ก ๆ การได้จัดการเล่นเสริมพัฒนาการลูกที่สอดคล้องกับความสามารถและทักษะตามวัยของลูกได้ถูก ก็ยิ่งส่งเสริมพัฒนาการดีต่อลูกมากยิ่งขึ้นด้วย เรามาดู การเล่นเสริมพัฒนาการ ของลูกกัน ว่ามีอะไรบ้าง
ตาราง การเล่นเสริมพัฒนาการลูกน้อยตามวัย
การเล่นเสริมพัฒนาการลูก อายุ 1-3 เดือน
พัฒนาการของหนู ๆ ในช่วงนี้
- จะเคลื่อนไหวร่างกาย แขน ขา ได้ 2 ข้างเท่ากัน
- เริ่มสำรวจสิ่งต่างๆ รอบ ๆ ตัวโดยใช้สายตาจ้องมองและเคลื่อนสายตาตามวัตถุที่เคลื่อนที่
- ใช้มือคว้า เอื้อมหยิบสิ่งของที่อยู่ใกล้ ๆ อาจจะจับถูกบ้างผิดบ้าง เนื่องจากการประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อตาและมือยังไม่สมบูรณ์
ลูกวัยนี้ควรเล่นอะไร
- ใช้ของเล่นกระตุ้นสายตา เช่น โมบายสีสดใส
- เสริมทักษะการฟังด้วยของเล่นกรุ๋งกริ๋ง เขย่ามีเสียงดัง หรือเปิดให้ฟังเพลงบรรเลงเบาๆ
- การอุ้ม สัมผัส และพูดคุย จะช่วยทำให้ลูกได้ยิ้มและรู้จักตอบสนองต่อเสียงรอบข้าง
การเล่นเสริมพัฒนาการลูก อายุ 4-5 เดือน
พัฒนาการของหนู ๆ ในช่วงนี้
- ลูกจะเริ่มจำหน้าพ่อแม่หรือวัตถุสิ่งของที่อยู่ใกล้ ๆ ได้
- คอแข็ง พลิกคว่ำได้ ใช้แขนได้ดีขึ้น หมุนตัวหรือคืบไปข้างหน้า และพยายามไขว่คว้าสิ่งของที่ต้องการด้วยตัวเอง
- ชอบถือของเล่นฟาดไปมา หรือชอบเอาของเข้าปาก
- ยังนั่งด้วยตัวเองไม่ได้
ลูกวัยนี้ควรเล่นอะไร
- ของเล่นที่ใช้เล่นกับลูกในวัยนี้ควรเป็นของเล่นที่ปลอดภัย ไม่มีคม เพราะเด็กจะชอบเอาเข้าปาก
- ของเล่นที่ใช้มือจับ เขย่ามีเสียงเมื่อเล่นหยอกล้อจะทำให้ลูกอารมณ์ดี หัวเราะเสียงดัง
การเล่นเสริมพัฒนาการลูก อายุ 5-6 เดือน
พัฒนาการของหนู ๆ ในช่วงนี้
- เริ่มเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น
- อยากรู้อยากเห็นและสนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
- ทารกบางคนสามารถนั่งได้เองแล้ว และเมื่ออุ้มตัวจับยืนจะวางแนบกับพื้น
- เด็กบางคนจะร้องเมื่อเห็นคนแปลกหน้า
ลูกวัยนี้ควรเล่นอะไร
- ของเล่นที่จับแกว่งแล้วมีเสียงดัง
- ยางกัดนิ่ม ๆ
- ชวนลูกเล่นกับเงาตัวในกระจก
การเล่นเสริมพัฒนาการลูก อายุ 6-7 เดือน
พัฒนาการของหนู ๆ ในช่วงนี้
- สามารถนั่งพิงเก้าอี้โดยลำพังได้แล้ว
- เริ่มพิจารณามองสิ่งของอย่างมีรายละเอียดมากขึ้น
ลูกวัยนี้ควรเล่นอะไร
- ของเล่นเสริมพัฒนาการประเภทที่มีเสียง เช่น ตุ๊กตาล้มลุก ตุ๊กตาไขลาน ชอบเพลงที่มีจังหวะ
การเล่นเสริมพัฒนาการลูก อายุ 7-8 เดือน
พัฒนาการของหนู ๆ ในช่วงนี้
- ลูกคลานได้และเริ่มซน ในวัยนี้พ่อแม่ต้องให้ความสนใจและดูแลอย่างใกล้ชิด เด็กบางคนชอบปีนป่าย ขึ้นเก้าอี้ คลานขึ้นบันได ชอบรื้อของเล่นออกจากกล่องของเล่น
- เริ่มมีภาวะทางอารมณ์ใช้มือปัดออกเมื่อไม่ต้องการสิ่งนั้น หรือเมื่อถูกแย่งของจะโกรธและร้องไห้
- เจ้าตัวน้อยฟันเริ่มขึ้นแล้ว
ลูกวัยนี้ควรเล่นอะไร
- ใช้ของเล่นที่มีเสียงดนตรี มีจังหวะเพื่อเล่นกับลูกน้อยได้
- เริ่มสนใจสิ่งของภายในบ้าน และเลือกของเล่นด้วยตัวเอง เช่น ของเล่นที่ไม่ใช่ของเล่นอย่าง โทรศัพท์มือถือ ถังขยะ ของชิ้นใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อคลานไปหยิบมาเล่น
การเล่นเสริมพัฒนาการลูก อายุ 8-9 เดือน
พัฒนาการของหนู ๆ ในช่วงนี้
- น้องหนูจะคลานได้คล่องขึ้น เริ่มที่จะกลายเป็นวัยซน ปีนป่ายเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน
- เริ่มเข้าใจความหมายที่พ่อแม่พูดและเปล่งเสียงได้ เช่น หม่ำๆ
- เลียนแบบคำสั่งง่าย ๆ ได้ เช่น “ดีจ้า บ๊ายบาย ธุจ้า”
ลูกวัยนี้ควรเล่นอะไร
- เล่นจ๊ะเอ๋ ที่จะเสริมทักษะด้านการมองเห็น เด็กจะชอบใจและหัวเราะเสียงดัง
- ของเล่นที่เคาะแล้วมีเสียงดัง เช่น กลอง ระนาด ทำให้ลูกขยับร่างกายเคลื่อนไหวตามจังหวะเพลง
การเล่นเสริมพัฒนาการลูก อายุ 9-10 เดือน
พัฒนาการของหนู ๆ ในช่วงนี้
- สามารถเกาะยืนได้แล้ว เด็กบางคนเริ่มที่จะเกาะเดินตามโซฟา
- เจ้าตัวน้อยจะเริ่มซนและไม่อยู่นิ่งมากขึ้น
- สนใจสิ่งของทุกอย่างที่มองเห็น
- ชอบเลียนแบบท่าทางผู้ใหญ่
- เริ่มเข้าใจคำศัพท์ เช่นคำว่า “ไม่ โน ๆ”
ลูกวัยนี้ควรเล่นอะไร
ลูกจะเริ่มมองข้ามของเล่นตัวเอง แล้วหันไปสนใจสิ่งของชิ้นอื่น ๆ ภายในบ้าน เช่น ปลั๊กไฟ แก้วน้ำ ฯลฯ ในวัยนี้นอกจากมีพื้นที่ปล่อยให้ลูกเล่นอย่างอิสระแล้ว พ่อแม่ควรต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อคอยระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก คอยเก็บสิ่งของที่อันตรายขึ้นให้ห่างจากตัวเด็ก หรือไม่ควรวางไว้บนที่สูง เพราะเด็กจะเอื้อมมือและทำให้ตกหล่นลงมาได้
การเล่นเสริมพัฒนาการลูก อายุ 10-11 เดือน
พัฒนาการของหนู ๆ ในช่วงนี้
- ทารกวัยนี้จะเริ่มเกาะเดินได้เก่งขึ้น น้องหนูบางคนอาจเริ่มปล่อยมือ ทรงตัวได้ และเริ่มตั้งไข่
- กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่เริ่มแข็งแรงขึ้น มีแรงที่จะเปิดลิ้นชักรื้อของเล่น เพราะสนใจอยากทดลองทำทั้ง ๆ ที่รู้ว่าห้ามทำ
- ทารกบางคนเรียกพ่อ แม่ ให้เป็นที่ชื่นใจได้แล้ว
ลูกวัยนี้ควรเล่นอะไร
- ต่อบล็อก เพื่อเสริมพัฒนาการทางสมองและกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่จากการจับเข้าจับออก
- ของเล่นไม้ต่าง ๆ เช่น รูปทรง
- หนังสือภาพ ที่ทำให้ลูกได้เกิดการสัมผัส รู้สึกผิวของวัตถุที่แตกต่างกันไป
- เล่นเป่าฟองสบู่ เป่ากังหันลมกระดาษ
การเล่นเสริมพัฒนาการลูก อายุ 11-12 เดือน
พัฒนาการของหนู ๆ ในช่วงนี้
- ลูกจะเริ่มเดินได้ และค่อย ๆ ไต่ขึ้นบันไดเองได้
- เริ่มพูดเป็นคำได้ เช่น หมา ไป ไม่ เดิน ฯลฯ เด็กบางคนฟังรู้เรื่อง แต่อาจจะยังไม่ยอมพูด
- ชอบออกไปเที่ยวนอกบ้าน และมองนู้นนี่ด้วยความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น
ลูกวัยนี้ควรเล่นอะไร
- ลูกเริ่มที่จะสนุกกับการเห็นสิ่งต่าง ๆ พ่อแม่สามารถชวนลูกมาเป็นเดินเล่นสำรวจทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน เล่นสนามเด็กเล่น
- ของเล่นเสริมพัฒนาการและได้ความสนุก เช่น รถลาก แกว่งชิงช้า ม้าโยก ม้าหมุน